Loading...
Larger font
Smaller font
Copy
Print
Contents
สงครามครั้งยิ่งใหญ่ - Contents
  • Results
  • Related
  • Featured
No results found for: "".
  • Weighted Relevancy
  • Content Sequence
  • Relevancy
  • Earliest First
  • Latest First

    บท 26 - ภารกิจหนึ่งของการปฏิรูป

    ภารกิจของการปฏิรูปวันสะบาโตที่จะต้องทำให้สำเร็จในยุคสุดท้ายถูกพยากรณ์ไว้ในพระธรรมอิสยาห์ว่า “พระยาห์เวห์ตรัสดังนี้ว่า ‘จงรักษาความยุติธรรมและทำความชอบธรรม เพราะความรอดของเราใกล้มาถึง และความชอบธรรมของเราจะเผยออก ความสุขย่อมมีแก่คนที่ทำเช่นนี้และแก่มนุษย์ผู้ยึดมันไว้มั่น คือผู้รักษาวันสะบาโต ไม่ทำให้วันนั้นเสื่อมเสีย และรักษามือของเขาจากการทำชั่วร้ายใดๆ’” “และคนต่างชาติผู้เข้าจารีตถือพระยาห์เวห์เพื่อปรนนิบัติพระองค์และรักพระนามของพระยาห์เวห์ และเป็นผู้รับใช้ของพระองค์ ทุกคนที่รักษาวันสะบาโตไม่ให้เสื่อมเสียและยึดมั่นในพันธสัญญาของเรา เราจะนำพวกเขามายังภูเขาบริสุทธิ์ของเรา และทำให้เขาชื่นบานอยู่ในนิเวศอธิษฐานของเรา” อิสยาห์ 56:1, 2, 6, 7 {GC 451.1} GCth17 388.1

    พระวจนะคำเหล่านี้ประยุกต์ใช้ได้กับทุกยุคสมัยของคริสเตียน ดังที่กล่าวไว้ว่า “พระยาห์เวห์ องค์เจ้านายผู้ทรงรวบรวมอิสราเอลที่กระจัดกระจาย ตรัสว่า ‘เราจะรวบรวมคนอื่นมาไว้กับเขา นอกจากพวกที่ได้รวบรวมไว้แล้ว’” อิสยาห์ 56:8 นี่เป็นการเกริ่นบอกไว้ล่วงหน้าว่าพระกิตติคุณจะรวบรวมคนต่างชาติเข้ามาและผู้ที่ถวายเกียรติวันสะบาโตจะได้รับพระพร ด้วยประการฉะนี้ ข้อผูกพันของพระบัญญัติข้อที่สี่จึงมีผลครอบคลุมขยายออกไปภายหลังจากการตรึงกางเขน การเป็นขึ้นจากความตาย และการเสด็จกลับสวรรค์ของพระคริสต์ ต่อเนื่องยาวนานจนถึงเมื่อบรรดาผู้รับใช้ของพระองค์ประกาศข่าวแห่งความชื่นชมยินดีให้แก่ชนทุกชาติ {GC 451.2}GCth17 388.2

    พระยาห์เวห์ทรงบัญชาผ่านผู้เผยพระวจนะคนเดียวกันว่า “จงเก็บคำพยานไว้ และจงผนึกตราธรรมบัญญัติไว้ในพวกสาวกของข้าพเจ้า” อิสยาห์ 8:16 ตราประทับของพระเจ้าปรากฏอยู่ในพระบัญญัติข้อที่สี่ พระบัญญัติข้อนี้เพียงข้อเดียวในพระบัญญัติสิบประการที่เปิดเผยให้เห็นพระนามและตำแหน่งของพระผู้ประทานพระบัญญัติ พระบัญญัติข้อนี้ประกาศว่าพระองค์ทรงเป็นผู้สร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก และด้วยเหตุนี้จึงเป็นสิทธิของพระองค์ที่จะต้องได้รับการเคารพและนมัสการเหนือพระอื่นใด นอกเหนือจากบัญญัติข้อนี้แล้ว ไม่มีข้อความใดในพระบัญญัติสิบประการที่แสดงให้เห็นว่าพระบัญญัติได้มาโดยอำนาจของผู้ใด เมื่อวันสะบาโตถูกเปลี่ยนด้วยอำนาจของระบอบเปปาซี ตราประทับนี้จึงถูกนำออกไปจากพระบัญญัติ สาวกทั้งหลายของพระเยซูได้รับบัญชาให้ฟื้นฟูบัญญัติข้อนี้กลับคืนมาด้วยการยกย่องเทิดทูนวันสะบาโตแห่งพระบัญญัติข้อที่สี่ให้กลับมายังตำแหน่งที่ถูกต้องในฐานะที่เป็นอนุสรณ์ของพระผู้สร้างและเป็นเครื่องหมายแห่งอำนาจของพระองค์ {GC 452.1}GCth17 388.3

    “ไปค้นพระราชบัญญัติและถ้อยคำพยาน” ในขณะที่มีหลักคำสอนต่างๆ และทฤษฎีหลากหลายซึ่งขัดแย้งกันอยู่มากมาย พระบัญญัติของพระเจ้าจะต้องเป็นกฎเดียวที่แม่นยำเที่ยงตรงเพื่อใช้ทดสอบบรรดาแนวคิด คำสอนและทฤษฎีต่างๆ ผู้เผยพระวจนะกล่าวว่า “ถ้าเขาไม่พูดตามคำเหล่านี้ ก็เพราะในตัวเขาไม่มีแสงสว่างเสียเลย” อิสยาห์ 8:20 TKJV {GC 452.2}GCth17 389.1

    พระองค์ทรงบัญชาอีกครั้งหนึ่งว่า “จงร้องดังๆ อย่าออมเสียงไว้ จงเปล่งเสียงของเจ้าเหมือนเป่าเขาสัตว์ จงแจ้งให้ชนชาติของเรารู้ตัวในเรื่องการทรยศของเขา ให้เชื้อสายของยาโคบรู้ตัวในเรื่องบาปของเขา” ผู้ที่ต้องรับคำเตือนเรื่องการทรยศนั้นไม่ใช่คนชั่วของโลก แต่เป็นคนที่พระยาห์เวห์ทรงจัดไว้ให้เป็น “ชนชาติของเรา” เพื่อเตือนให้ตื่นขึ้นจากการล่วงละเมิด พระองค์ยังทรงประกาศต่อไปอีกว่า “กระนั้นเขายังแสวงหาเราทุกวัน และยินดีจะรู้จักทางของเราราวกับว่าเขาเป็นประชาชาติที่ทำความชอบธรรม และไม่ได้ละทิ้งกฎหมายของพระเจ้าของเขา” อิสยาห์ 58:1, 2 ข้อความนี้เปิดเผยให้เห็นถึงคนกลุ่มหนึ่งที่คิดว่าตนเองชอบธรรมและทำตัวประหนึ่งว่าสนใจรับใช้ในพระราชกิจของพระเจ้าอย่างมากยิ่ง แต่คำตำหนิที่ขึงขังและเอาจริงเอาจังของพระเจ้าผู้ทรงตรวจสอบหัวใจนั้นพิสูจน์ให้เห็นว่าคนเหล่านี้เหยียบย่ำกฎบัญญัติของพระองค์ {GC 452.3}GCth17 389.2

    ผู้เผยพระวจนะจึงชี้ให้เห็นถึงข้อบัญญัติที่ถูกทอดทิ้งไป ” เจ้าจะซ่อมเสริมรากฐานของคนหลายชั่วอายุขึ้นใหม่ เจ้าจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ซ่อมกำแพงที่พัง ผู้ซ่อมแซมถนนให้เหมือนเดิมเพื่ออยู่อาศัย ถ้าเจ้าหันเท้าจากการเหยียบย่ำวันสะบาโต คือจากการทำตามใจของเจ้าในวันบริสุทธิ์ของเรา และเรียกสะบาโตว่าวันปีติยินดี และเรียกวันบริสุทธิ์ของพระยาห์เวห์ว่าวันมีเกียรติ ถ้าเจ้าให้เกียรติวันนั้น ไม่ไปตามทางของเจ้าเอง ไม่ทำตามความพอใจของเจ้า หรือพูดแต่เรื่องไร้สาระ แล้วเจ้าจะปีติยินดีในพระยาห์เวห์” อิสยาห์ 58:12 — 14 คำพยากรณ์นี้ใช้กับยุคของเราด้วย กำแพงที่พังเกิดขึ้นในพระบัญญัติของพระเจ้าเมื่อวันสะบาโตถูกเปลี่ยนแปลงไปด้วยอำนาจของโรมัน แต่ถึงเวลาแล้วที่จะต้องสถาปนาสถาบันของพระเจ้าให้กลับคืนมา กำแพงที่พังจะต้องได้รับการซ่อมแซมและรากฐานของคนหลายชั่วอายุจะต้องได้รับการซ่อมเสริมขึ้นใหม่ {GC 452.4}GCth17 389.3

    พระผู้สร้างทรงแต่งตั้งวันสะบาโตให้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ด้วยการพักผ่อนและการอำนวยพระพร อาดัมในสภาพที่บริสุทธิ์ในขณะที่อยู่ในสวนเอเดนอันศักดิ์สิทธิ์ได้ถือรักษาวันสะบาโต และเมื่อเขาล้มลงในบาปแม้เขากลับใจแล้วเขาก็ยังต้องถูกขับออกไปจากบ้านที่มีความสุขถึงกระนั้นเขาก็ยังถือรักษาวันสะบาโต อัครปิตาทั้งหมดถือรักษาวันสะบาโตนับตั้งแต่อาเบลจนถึงโนอาห์ผู้ชอบธรรมไปจนถึงอับราฮัมและยาโคบ เมื่อประชาชนที่พระยาห์เวห์ทรงเลือกสรรต้องตกเป็นทาสอยู่ในแผ่นดินอียิปต์ท่ามกลางคนที่กราบไหว้รูปเคารพ พวกเขาลืมเรื่องบัญญัติของพระเจ้าไป แต่เมื่อพระยาห์เวห์ทรงปลดปล่อยชนชาติอิสราเอลแล้ว พระองค์ทรงประกาศพระบัญญัติของพระองค์อย่างยิ่งใหญ่ตระการตาให้แก่คนเหล่านั้น เพื่อให้พวกเขาทราบถึงพระประสงค์ของพระองค์อีกทั้งยำเกรงและเชื่อฟังพระองค์ตลอดไป {GC 453.1}GCth17 390.1

    ตั้งแต่วันนั้นจวบจนวันนี้ ความรู้เรื่องพระบัญญัติของพระเจ้ายังคงถูกเก็บรักษาไว้ในโลกนี้ และวันสะบาโตของพระบัญญัติข้อที่สี่ก็ยังคงได้รับการถือรักษาไว้มาโดยตลอด แม้ว่า “คนนอกกฎหมาย” 2 เธสะโลนิกา 2:3 เหยียบย่ำวันศักดิ์สิทธิ์ของพระยาห์เวห์ลงไปอยู่ใต้ฝ่าเท้าจนสำเร็จ ถึงกระนั้นก็ตาม แม้ในช่วงเวลาของการเรืองอำนาจของคนนอกกฎหมาย ก็ยังมีคนสัตย์ซื่อซึ่งซ่อนตัวอยู่ในที่ลี้ลับได้ถวายเกียรติให้กับวันนั้น นับตั้งแต่สมัยการปฏิรูปศาสนาเป็นต้นมา ก็ยังคงมีคนในทุกยุคที่ถือรักษาวันนั้นอยู่ แม้บ่อยครั้งจะตกอยู่ท่ามกลางการกดขี่และการข่มเหง ก็ยังมีคำพยานที่ซื่อสัตย์เกิดขึ้นซึ่งพิสูจน์ให้เห็นถึงความยั่งยืนยงของพระบัญญัติของพระเจ้า และหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่ควรถวายให้กับวันสะบาโตแห่งการทรงสร้าง {GC 453.2}GCth17 390.2

    ความจริงเหล่านี้ที่ถูกนำเสนอไว้ในพระธรรมวิวรณ์บทที่ 14 ซึ่งเกี่ยวโยงกับ “ข่าวประเสริฐนิรันดร์” นั้นจะทำให้เห็นถึงความแตกต่างของคริสตจักรของพระคริสต์ในช่วงเวลาที่พระองค์จะเสด็จมาปรากฏ ข่าวสารสามประการนี้ ส่งผลให้มีคำประกาศว่า “นี่แหละ....คือพวกที่ถือรักษาพระบัญญัติของพระเจ้าและจงรักภักดีต่อพระเยซู” วิวรณ์ 14:12 และเป็นข่าวสารสุดท้ายที่ประทานมาให้ก่อนองค์พระผู้เป็นเจ้าจะเสด็จมา ในทันทีที่ข่าวนี้ถูกประกาศออกไปแล้ว ผู้เผยพระวจนะเห็นบุตรมนุษย์เสด็จมาด้วยพระรัศมีเพื่อเก็บเกี่ยวโลก {GC 453.3}GCth17 390.3

    บรรดาผู้ที่ได้รับความกระจ่างในเรื่องของสถานนมัสการและพระบัญญัติที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้ของพระเจ้าจะเปี่ยมล้นด้วยความสุขและอัศจรรย์ใจในขณะที่พวกเขามองดูความงดงามและความกลมกลืนกันของความจริงทั้งระบบที่เปิดเผยออกมาให้พวกเขาเข้าใจ พวกเขาปรารถนาที่จะแบ่งปันความกระจ่างอันล้ำค่านี้ให้กับคริสเตียนทุกคนและยังเชื่อว่าคริสเตียนเหล่านี้จะรับความกระจ่างนี้ด้วยความชื่นชมยินดี แต่ความจริงที่จะทำให้พวกเขาขัดแย้งกับโลกนั้นไม่เป็นที่ต้อนรับของคนจำนวนมากที่อ้างว่าเป็นผู้ติดตามพระคริสต์ การเชื่อฟังพระบัญญัติข้อที่สี่ต้องการความเสียสละ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ถอยหนีไป {GC 454.1}GCth17 391.1

    ในขณะที่ข้อกำหนดของวันสะบาโตถูกประกาศออกมานั้น มีคนมากมายให้เหตุผลด้วยการใช้จุดยืนของทางฝ่ายโลกโดยพูดว่า “เราถือรักษาวันอาทิตย์มาตลอด บรรพบุรุษของเราถือรักษาวันนี้ และคนดีและนักบุญมากมายนอนตายตาหลับในขณะที่ถือรักษาวันนี้ หากสิ่งที่พวกเขาทำนั้นถูกต้อง พวกเราก็ทำถูกด้วยเช่นกัน การถือรักษาวันสะบาโตใหม่นี้จะผลักดันให้พวกเราไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับโลกและพวกเราก็จะไม่มีอิทธิพลเหนือพวกเขา กลุ่มคนขนาดเล็กที่ถือรักษาวันที่เจ็ดหวังจะทำอะไรให้สำเร็จที่จะต้านคนทั้งโลกซึ่งถือรักษาวันอาทิตย์เล่า” คำโต้แย้งเหล่านี้คล้ายคลึงกับที่ชาวยิวใช้แก้ตัวปฏิเสธพระคริสต์ บรรพบุรุษของพวกเขาได้รับการยอมรับจากพระเจ้าเมื่อพวกเขาถวายเครื่องบูชาเสมอมา แล้วทำไมเล่า ลูกหลานของพวกเขาจะได้รับความรอดด้วยวิธีเดียวกันนี้ไม่ได้หรือ ในสมัยของลูเธอร์ก็เช่นกัน บรรดาผู้นิยมระบอบเปปาซีลุกขึ้นโต้ว่า คริสเตียนที่แท้จริงตายในความเชื่อของคาทอลิก และดังนั้น ศาสนาที่พวกเขานับถืออยู่จึงเพียงพอต่อความรอดของพวกเขา การให้เหตุผลเช่นนี้จะกลายเป็นสิ่งกีดขวางความก้าวหน้าทั้งหลายในความเชื่อและการปฏิบัติทางฝ่ายศาสนา {GC 454.2}GCth17 391.2

    คนมากมายยังคงยืนยันว่าการถือรักษาวันอาทิตย์เป็นหลักคำสอนที่ได้รับการยอมรับและเป็นประเพณีที่แพร่หลายของคริสตจักรมาตลอดหลายศตวรรษ คำคัดค้านที่ต้านข้อโต้แย้งนี้คือหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าวันสะบาโตและการถือรักษาวันสะบาโตมีความเก่าแก่กว่าและแพร่หลายมากกว่า ความเก่าแก่นั้นเทียบเท่าอายุของโลกเลยทีเดียว และยังผ่านการรับรองของทั้งทูตสวรรค์และพระเจ้าด้วย เมื่อคราวที่พระเจ้าทรงวางรากฐานของโลก เมื่อดาวรุ่งแซ่ซ้องสรรเสริญและบรรดาบุตรพระเจ้าโห่ร้องด้วยความชื่นบานนั้น รากฐานของวันสะบาโตก็ถูกสถาปนาขึ้นมาแล้ว โยบ 38:6, 7 ปฐมกาล 2:1-3 สถาบันวันสะบาโตกำหนดไว้ให้เราถวายความเคารพ สถาบันนี้ไม่ได้ตั้งขึ้นโดยอำนาจของมนุษย์และไม่ได้ดัดแปลงมาจากประเพณีของมนุษย์ แต่ผู้เจริญด้วยวัยวุฒิ [ดาเนียล 7:9] ทรงเป็นผู้จัดตั้งขึ้นและพระคำนิรันดร์ของพระองค์ได้บัญชาไว้ {GC 454.3}GCth17 391.3

    เมื่อประชาชนเริ่มหันมาสนใจเรื่องของการปฏิรูปวันสะบาโต อาจารย์ผู้มีชื่อเสียงหลายคนก็บิดเบือนพระคำของพระเจ้าโดยการแปลความหมายของคำพยานในพระคัมภีร์ไปในแนวทางที่จะสยบความคิดที่สงสัย และคนเหล่านั้นที่ไม่ได้ศึกษาพระคัมภีร์ด้วยตนเองก็รู้สึกพอใจที่จะรับข้อสรุปซึ่งสอดคล้องกับความปรารถนาของเขาเอง คนมากมายลงแรงล้มล้างความจริงโดยใช้ข้อถกเถียง เล่ห์เหลี่ยม ประเพณีต่างๆ ที่บรรพบุรุษปฏิบัติกันมาและอำนาจของคริสตจักร ผู้ที่สนับสนุนวันสะบาโตจึงถูกผลักดันให้ไปค้นหาพระคัมภีร์เพื่อยืนยันความถูกต้องของพระบัญญัติข้อที่สี่ ผู้ที่มีใจถ่อมพร้อมด้วยพระคำแห่งความจริงซึ่งเป็นเพียงอาวุธเดียวได้ยืนหยัดทนต่อการจู่โจมของผู้ที่มีการศึกษา ซึ่งทั้งรู้สึกแปลกใจและโกรธเมื่อพบว่า เล่ห์เหลี่ยมที่คล่องแคล่วของพวกเขาไม่มีกำลังต่อสู้กับความเรียบง่ายซึ่งเป็นเหตุผลที่ตรงไปตรงมาของผู้ที่เชี่ยวชาญในพระคัมภีร์แทนที่จะเป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่ได้จากการร่ำเรียน {GC 455.1}GCth17 392.1

    เมื่อไม่มีคำพยานของพระคัมภีร์สนับสนุนพวกเขาแล้ว คนมากมายที่ยังคงยืนกรานอย่างไม่ย่อท้อโดยลืมไปว่าเหตุผลเดียวกันนี้เคยใช้โจมตีพระคริสต์และบรรดาอัครทูตของพระองค์มาแล้ว พวกเขาพูดว่า “ทำไมบุคคลสำคัญของเราจึงไม่เข้าใจปัญหาเรื่องวันสะบาโตนี้ แต่มีน้อยคนนักเชื่อเหมือนพวกท่าน มันเป็นไปไม่ได้ที่ท่านเป็นฝ่ายถูกและคนมีความรู้ทั้งหลายในโลกเป็นฝ่ายผิด” {GC 455.2}GCth17 392.2

    ในการตอบโต้คำถกเถียงเช่นนี้ จำเป็นต้องกล่าวอ้างคำสอนต่างๆ ในพระคัมภีร์และประวัติวิธีการที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงปฏิบัติต่อประชากรของพระองค์มาตลอดทุกยุคทุกสมัยเท่านั้น พระเจ้าทรงกระทำกิจผ่านผู้ที่ฟังและปฏิบัติตามพระสุรเสียงของพระองค์ ผู้ที่ยอมพูดเมื่อจำเป็นต้องพูดความจริงถึงแม้ว่าเป็นเรื่องที่พูดลำบาก ผู้ที่ไม่กลัวที่จะตำหนิบาปที่ผู้คนนิยม เหตุผลที่พระองค์ไม่ทรงเลือกผู้มีความรู้และมีตำแหน่งสูงมานำขบวนการปฏิรูปก็เพราะพวกเขาเชื่อมั่นในศาสนา ทฤษฎี และระบอบศาสนศาสตร์ของตนและไม่รู้สึกถึงความต้องการที่จะให้พระเจ้าสอน เฉพาะผู้ที่ติดต่อเป็นการส่วนตัวกับแหล่งพระปัญญาเท่านั้นจึงจะเข้าใจหรืออธิบายพระคัมภีร์ได้ บางครั้งคนที่มีการศึกษาน้อยถูกเรียกมาให้ประกาศความจริง ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่มีการศึกษา แต่เพราะพวกเขาไม่เคยคิดว่าตนเองเก่งเกินกว่าที่จะให้พระเจ้าสอน พวกเขาเรียนอยู่ในโรงเรียนของพระคริสต์ ความถ่อมตนและการเชื่อฟังของพวกเขาทำให้พวกเขายิ่งใหญ่ ในการมอบความรู้ที่เป็นความจริงให้แก่พวกเขานั้น พระเจ้าทรงประทานเกียรติให้พวกเขาด้วย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบแล้ว เกียรติยศทางฝ่ายโลกและความยิ่งใหญ่ของมนุษย์จมหายไปอย่างไม่มีความหมาย {GC 455.3}GCth17 392.3

    ชาวแอ๊ดเวนตีสส่วนใหญ่ปฏิเสธความจริงเรื่องสถานนมัสการและพระบัญญัติของพระเจ้า และคนจำนวนมากได้ละทิ้งความเชื่อที่พวกเขามีในขบวนการรอการเสด็จกลับมาของพระคริสต์ และรับแนวคิดต่างๆ ของคำพยากรณ์ที่ประยุกต์ใช้กับงานนี้ซึ่งไม่น่าเชื่อถือและขัดแย้ง บางคนถูกชักนำไปสู่ความผิดซ้ำซากของการกำหนดวันเวลาที่แน่นอนที่พระคริสต์จะเสด็จกลับมา แสงสว่างที่บัดนี้ส่องความกระจ่างในเรื่องสถานนมัสการควรจะแสดงให้พวกเขาเห็นว่า ไม่มีช่วงเวลาของคำพยากรณ์ที่ครอบคลุมไปจนถึงการเสด็จกลับมาครั้งที่สอง และไม่มีการทำนายไว้ล่วงหน้าอีกแล้วถึงเวลาที่แน่นอนของเหตุการณ์นี้ แต่พวกเขากลับหันหลังให้กับความกระจ่าง ครั้งแล้วครั้งเล่าพวกเขากำหนดเวลาการเสด็จกลับมาขององค์พระผู้เป็นเจ้าและต้องรับความผิดหวังเรื่อยมา {GC 456.1}GCth17 393.1

    เมื่อคริสตจักรที่เมืองเธสะโลนิการับแนวคิดที่ผิดในเรื่องการเสด็จกลับมาของพระคริสต์ อัครทูตเปาโลแนะนำพวกเขาให้ทดสอบความหวังใจและการรอคอยของพวกเขาอย่างรอบคอบด้วยพระคำของพระเจ้า ท่านอ้างคำพยากรณ์ที่เปิดเผยเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นก่อนพระคริสต์จะเสด็จมาและแสดงให้เห็นว่าไม่มีเหตุผลใดที่จะหวังว่าพระองค์จะเสด็จมาในยุคของพวกเขา คำเตือนของท่านคือ “อย่าให้ใครล่อลวงท่านโดยทางหนึ่งทางใดเลย” 2 เธสะโลนิกา 2:3 หากพวกเขายังคงหมกมุ่นอยู่กับการรอคอยที่พระคัมภีร์ไม่ได้สอนไว้ พวกเขาก็จะถูกชักนำให้ทำสิ่งที่ผิด ความผิดหวังจะเปิดโอกาสให้พวกเขาถูกผู้ที่ไม่เชื่อเย้ยหยัน และพวกเขาจะเสี่ยงต่อความท้อถอยและจะถูกชักนำให้สงสัยความจริงที่จำเป็นสำหรับความรอด คำเตือนของอัครทูตที่ให้กับชาวเธสะโลนิกาจึงมีบทเรียนสำคัญสำหรับผู้ที่มีชีวิตอยู่ในยุคสุดท้าย ชาวแอ๊ดเวนตีสมากมายรู้สึกว่าพวกเขาไม่อาจเตรียมตัวให้กระตือรือร้นและแข็งขันได้นอกเสียจากจะมีเวลากำหนดที่แน่นอนของการเสด็จมาขององค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อใช้ยึดความเชื่อให้มั่น แต่เมื่อความหวังของพวกเขาถูกกระตุ้นขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่าเพียงเพื่อไปพบกับความผิดหวัง ความเชื่อของพวกเขาถูกกระเทือนอย่างมากจนกระทั่งพวกเขาไม่สามารถรู้สึกประทับใจในความจริงยิ่งใหญ่ของคำพยากรณ์ได้อีกต่อไป {GC 456.2}GCth17 393.2

    การเทศนาเรื่องกำหนดเวลาที่แน่นอนสำหรับการพิพากษา ซึ่งเป็นข่าวสารองค์ที่หนึ่งนั้นเป็นไปตามพระบัญชาของพระเจ้า การคำนวณช่วงเวลาของคำพยากรณ์ซึ่งข่าวสารนั้นได้วางรากฐานไว้ ได้จัดวางจุดสิ้นสุดของ 2300 วันไว้ที่ฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 1844 เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่มีผู้ใดโต้แย้งได้ ความพยายามซ้ำๆ หลายครั้งที่จะหาวันใหม่ของจุดเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของช่วงเวลาพยากรณ์นี้และเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นเพื่อสนับสนุนจุดยืนเหล่านั้น ไม่เพียงหันเหความคิดให้ออกห่างไกลไปจากความจริงแห่งยุคเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดความเหยียดหยามต่อความพยายามทั้งหมดที่ใช้ในการอธิบายคำพยากรณ์ต่างๆ ด้วย ยิ่งมีการกำหนดเวลาแน่นอนของการเสด็จมาครั้งที่สองบ่อยมากขึ้นและถูกสอนออกไปมากยิ่งขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งเข้าไปสู่เป้าประสงค์ของซาตานมากขึ้นเท่านั้น เมื่อเวลาที่กำหนดไว้ผ่านพ้นไป มันจะยุให้เย้ยหยันและหมิ่นประมาทผู้สนับสนุนเรื่องนี้ และด้วยเหตุนี้จึงโหมกระหน่ำคำตำหนิใส่ขบวนการยิ่งใหญ่ของการรอการเสด็จกลับมาของพระคริสต์ในช่วงปี ค.ศ. 1843 และ ค.ศ. 1844 ผู้ที่ยังคงยืนกรานอยู่ในความผิดเช่นนี้ ในที่สุด พวกเขาจะกำหนดวันเวลาการเสด็จกลับมาของพระคริสต์ให้ห่างไกลออกไปยังอนาคตที่ยาวนาน ด้วยการกระทำเช่นนี้ พวกเขาจะถูกนำไปยังการนอนพักในความรู้สึกปลอดภัยจอมปลอม และคนมากมายจะไม่มีโอกาสหลุดพ้นจากการหลอกลวงนี้จนกระทั่งสายเกินไป {GC 457.1}GCth17 394.1

    ประวัติศาสตร์ของชนชาติอิสราเอลสมัยโบราณเป็นตัวอย่างอันโดดเด่นซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาของชุมนุมชนชาวแอ๊ดเวนตีส พระเจ้าทรงนำประชากรของพระองค์ในขบวนการรอการเสด็จกลับมาของพระคริสต์เหมือนเช่นที่พระองค์ทรงนำชนชาติอิสราเอลออกจากประเทศอียิปต์ ในคราวที่เกิดการผิดหวังครั้งยิ่งใหญ่ ความเชื่อของพวกเขาถูกทดสอบเหมือนเช่นคนชาติฮีบรูถูกทดสอบที่ทะเลแดง หากพวกเขายังคงวางใจในพระหัตถ์ที่ทรงนำในประสบการณ์ที่ผ่านมาแล้ว พวกเขาก็จะเห็นความรอดของพระเจ้า หากทุกคนที่ทำงานร่วมกันในปี ค.ศ. 1844 ได้รับข่าวของทูตสวรรค์องค์ที่สามและประกาศข่าวนี้ด้วยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์แล้ว องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงกระทำกิจยิ่งใหญ่ในสิ่งที่พวกเขาลงแรงทำกันอยู่ แสงเจิดจ้าแห่งความกระจ่างจะส่องลงมายังโลก หลายปีที่ผ่านมาผู้อาศัยอยู่ในโลกคงจะได้รับคำเตือนนี้ และงานช่วงท้ายก็คงจะเสร็จสมบูรณ์ไปแล้วและพระคริสต์น่าจะเสด็จกลับมาแล้วเพื่อไถ่ประชากรของพระองค์ให้รอด {GC 457.2}GCth17 394.2

    พระเจ้าไม่ทรงประสงค์ให้ชนชาติอิสราเอลเดินวนเวียนอยู่ในป่ากันดารถึงสี่สิบปี พระองค์ทรงประสงค์นำพวกเขาเข้าไปยังแผ่นดินคานาอันโดยตรงและให้อยู่ที่นั่นเป็นประชาชนที่บริสุทธิ์และมีความสุข แต่ “พวกเขาไม่สามารถเข้าไปได้นั้นก็เพราะพวกเขาขาดความเชื่อ” ฮีบรู 3:19 เป็นเพราะการเสื่อมถอยออกห่างและการละทิ้งความเชื่อ พวกเขาจึงพินาศในถิ่นทุรกันดาร และคนอื่นถูกยกชูขึ้นเพื่อเข้าไปแผ่นดินแห่งคำสัญญาแทน ในทำนองเดียวกัน ไม่ใช่พระประสงค์ของพระเจ้าที่การเสด็จกลับมาของพระคริสต์จะล่าช้านานถึงเพียงนี้ และประชากรของพระองค์ต้องคงอยู่นานหลายปีในโลกแห่งบาปและเศร้าโศก แต่ความไม่เชื่อแยกพวกเขาออกไปจากพระเจ้า ในขณะที่พวกเขาปฏิเสธหน้าที่ที่พระองค์ทรงมอบหมายให้พวกเขาทำนั้น คนอื่นจึงถูกยกชูขึ้นเพื่อให้ประกาศข่าวสารนี้แทน ด้วยพระเมตตาคุณที่พระเยซูทรงมีต่อโลกนี้ พระองค์จึงทรงเลื่อนการกลับมาของพระองค์ออกไป เพื่อคนบาปจะมีโอกาสรับคำเตือนและแสวงหาพระองค์ผู้ทรงเป็นร่มกำบังก่อนที่พระพิโรธของพระเจ้าจะหลั่งลงมา {GC 458.1}GCth17 395.1

    เวลานี้เช่นเดียวกับยุคก่อนในอดีต การประกาศความจริงที่เตือนสอนเรื่องบาปและความผิดของยุคจะกระตุ้นให้เกิดการต่อต้านขึ้น “เพราะทุกคนที่ประพฤติชั่วก็เกลียดความสว่างและไม่มาหาความสว่าง เนื่องจากกลัวว่าการกระทำของตนจะปรากฏ” ยอห์น 3:20 ในขณะที่มนุษย์มองเห็นว่าไม่อาจใช้พระคัมภีร์เพื่อรักษาจุดยืนของตนเองได้แล้ว คนมากมายจึงตั้งใจที่จะรักษาจุดยืนของตนด้วยความรุนแรง และพวกเขาโจมตีด้วยวิญญาณที่โหดเหี้ยมไปที่อุปนิสัยและความตั้งใจของผู้ที่ยืนหยัดเพื่อปกป้องความเชื่อที่ไม่ได้รับความนิยม นโยบายเดียวกันนี้ถูกใช้มาตลอดทุกยุคสมัย เอลียาห์ถูกประณามว่าเป็นคนสร้างความยุ่งยากในแผ่นดินอิสราเอล เยเรมีย์เป็นคนทรยศ เปาโลทำให้วิหารเป็นมลทิน ตั้งแต่สมัยโน้นมาจนถึงวันนี้ ผู้ที่จงรักภักดีต่อความจริงจะถูกปรักปรำว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบ เป็นคนนอกรีตหรือเป็นคนก่อความแตกแยก ฝูงชนที่ไม่มีความเชื่อมากพอที่จะยอมรับถ้อยคำอันแน่นอนของคำพยากรณ์จะยอมหลงเชื่อโดยไม่สงสัยในคำกล่าวหาที่มีต่อผู้ที่กล้าตำหนิบาปที่ผู้คนนิยมทำกัน วิญญาณเช่นนี้จะมีมากขึ้นและยิ่งมากขึ้น และพระคัมภีร์สอนไว้อย่างชัดเจนว่า เวลากำลังจะมาถึง เมื่อกฎหมายของรัฐจะขัดแย้งกับพระบัญญัติของพระเจ้า จนกระทั่งใครก็ตามที่เชื่อฟังทุกคำสั่งสอนของพระเจ้าจะต้องกล้าหาญที่จะรับคำตำหนิและการลงโทษในฐานะคนทำความชั่ว {GC 458.2}GCth17 395.2

    เมื่อมองเห็นภาพเช่นนี้แล้ว อะไรคือหน้าที่ของผู้สื่อข่าวแห่งความจริง เขาควรต้องสรุปใช่ไหมว่าเขาไม่ควรประกาศความจริงเนื่องจากบ่อยครั้งผลลัพธ์เดียวที่ได้รับจากการประกาศคือการกระตุ้นให้มนุษย์หลบเลี่ยงหรือขัดขวางสิ่งที่ประกาศ ไม่ใช่ เขาไม่มีเหตุผลอื่นที่จะเก็บคำพยานของพระคำพระเจ้าเอาไว้เพียงเพราะพระคำเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดการต่อต้านซึ่งไม่น้อยไปกว่าที่เคยเกิดกับนักปฏิรูปในยุคก่อนๆ ความเชื่อของธรรมิกชนและของผู้ยอมพลีชีพถูกจารึกไว้เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับคนในยุคต่อๆ มา ผู้ที่ดำเนินชีวิตเป็นแบบอย่างทั้งในความบริสุทธิ์และความซื่อสัตย์อย่างมั่นคงถูกส่งต่อมาเพื่อเป็นกำลังใจแก่ผู้ที่บัดนี้ได้รับการทรงเรียกให้ยืนขึ้นเพื่อเป็นพยานให้พระเจ้า พวกเขาได้รับพระคุณและความจริงไม่ใช่เพื่อตนเอง แต่โดยผ่านพวกเขาโลกจะได้รับความกระจ่างในความรู้เรื่องพระเจ้า พระเจ้าทรงโปรดประทานความกระจ่างให้แก่ผู้รับใช้ทั้งหลายในยุคนี้แล้วหรือยัง ถ้าเช่นนั้นแล้วพวกเขาจึงควรให้แสงนั้นส่องออกไปในโลก {GC 459.1}GCth17 396.1

    ในสมัยโบราณกาล พระยาห์เวห์ทรงเปิดเผยให้กับคนหนึ่งที่กล่าวถึงพระนามของพระองค์ว่า “พงศ์พันธุ์อิสราเอลจะไม่ยอมฟังเจ้า เพราะเขาไม่ยอมฟังเรา” ถึงกระนั้นพระองค์ยังตรัสว่า “แต่เจ้าจงกล่าวถ้อยคำของเราให้พวกเขาฟัง แม้พวกเขาจะฟังหรือปฏิเสธก็ตามเถอะ” เอเสเคียล 3:7; 2:7 ในเวลานี้ พระบัญชาของพระเจ้ามาถึงผู้รับใช้ของพระองค์ว่า “จงร้องดังๆ อย่าออมเสียงไว้ จงเปล่งเสียงของเจ้าเหมือนเป่าเขาสัตว์ จงแจ้งให้ชนชาติของเรารู้ตัวในเรื่องการทรยศของเขา ให้เชื้อสายของยาโคบรู้ตัวในเรื่องบาปของเขา” อิสยาห์ 58:1 {GC 459.2}GCth17 396.2

    ตราบเท่าที่ทุกคนยังมีโอกาส ผู้ที่ได้รับความกระจ่างแห่งความจริงจะมีหน้าที่ที่ศักดิ์สิทธิ์และน่าสะพรึงกลัวเช่นเดียวกับผู้เผยพระวจนะแห่งอิสราเอลที่พระดำรัสของพระยาห์เวห์มาถึงว่า “บุตรมนุษย์เอ๋ย เราได้ตั้งเจ้าให้เป็นคนยามสำหรับพงศ์พันธุ์อิสราเอล และเมื่อเจ้าได้ยินถ้อยคำจากปากเรา เจ้าจงเตือนพวกเขาแทนเรา ถ้าเรากล่าวกับคนอธรรมว่า ‘โอ คนอธรรม เจ้าจะต้องตายแน่’ และเจ้าไม่ได้กล่าวเตือนคนอธรรมให้กลับจากทางของเขา คนอธรรมนั้นจะต้องตายเนื่องจากความผิดบาปของเขา แต่เราจะลงโทษเจ้าเรื่องโลหิตของเขา แต่ถ้าเจ้าได้ตักเตือนคนอธรรมให้หันกลับจากทางของเขา แต่เขาไม่หันกลับจากทางของเขา เขาจะต้องตายเนื่องจากความผิดบาปของเขา แต่เจ้าจะช่วยชีวิตของเจ้าเองให้รอด” เอเสเคียล 33:7-9 {GC 459.3}GCth17 396.3

    อุปสรรคยิ่งใหญ่ต่อการรับและการเผยแพร่ความจริงคือ ข้อเท็จจริงที่ว่ามันจะต้องมีความไม่สะดวกและการถูกตำหนิ นี่คือข้อโต้แย้งเดียวต่อความจริงซึ่งผู้ที่สนับสนุนความจริงไม่เคยสามารถที่จะปฏิเสธได้ แต่เรื่องเหล่านี้ไม่เคยขัดขวางผู้ติดตามที่ซื่อสัตย์ของพระคริสต์ พวกเขาไม่เคยรอให้ความจริงยอมรับอย่างแพร่หลายก่อน เมื่อพวกเขาเชื่อมั่นในหน้าที่ของพวกเขาแล้ว พวกเขาก็ตั้งมั่นรับกางเขน และกล่าวร่วมกับอัครทูตเปาโลว่า “ความยากลำบากชั่วคราวและเล็กน้อยของเรา จะทำให้เรามีศักดิ์ศรีนิรันดร์มากมายอย่างไม่มีที่เปรียบ” และกล่าวร่วมกับคนในยุคโบราณด้วยที่ “ถือว่าความอับอายขายหน้าเพื่อพระคริสต์ล้ำค่ากว่าสมบัติทั้งหลายของอียิปต์” 2 โครินธ์ 4:17 ฮีบรู 11:26 {GC 460.1}GCth17 397.1

    ไม่ว่าพวกเขาจะนับถือศาสนาใด มีเพียงผู้ที่รับใช้โลกด้วยใจเท่านั้นที่จะทำตามกฎข้อกำหนดมากกว่าที่จะทำตามหลักการของศาสนา เราจะต้องเลือกความถูกต้องเพราะเป็นสิ่งที่ถูกและมอบผลลัพธ์ที่ได้ไว้กับพระเจ้า สำหรับผู้ที่มีหลักการ ความเชื่อและความกล้าหาญนั้น โลกเป็นหนี้ผลงานการปฏิรูปที่ยิ่งใหญ่ของพวกเขา งานการปฏิรูปสำหรับยุคนี้จะต้องดำเนินต่อไปข้างหน้าด้วยคนลักษณะเดียวกันนี้ {GC 460.2}GCth17 397.2

    พระยาห์เวห์ตรัสดังนี้ว่า “จงฟังเรา พวกเจ้าผู้รู้จักความชอบธรรม ชนชาติที่มีธรรมบัญญัติของเราอยู่ในใจ อย่ากลัวการเยาะเย้ยของมนุษย์ และอย่าวิตกต่อการถากถางของเขา เพราะว่าตัวแมลงจะกินเขาเหมือนกินเสื้อผ้า และตัวหนอนจะกินเขาเหมือนกินขนแกะ แต่ความชอบธรรมของเราจะดำรงเป็นนิตย์และความรอดของเราอยู่ทุกชั่วชาติพันธุ์” อิสยาห์ 51:7, 8 {GC 460.3} GCth17 397.3

    *****