บท 9 - นักปฏิรูปศาสนาชาวสวิส
- อารัมภบท
- บทนำของคณะผู้จัดพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษ
- คำนำของผู้ประพันธ์
- บท 1 - ความพินาศของกรุงเยรูซาเล็ม
- บท 2 - การกดขี่ข่มเหงในศตวรรษต้นๆ
- บท 3 - ยุคมืดทางจิตวิญญาณ
- บท 4 - ชาววอลเดนซิส
- บท 5 - ยอห์น ไวคลิฟ
- บท 6 - ฮัสและเจอโรมี
- บท 7 - ลูเธอร์ตีตัวออกห่างจากโรม
- บท 8 - ลูเธอร์รายงานตัวต่อสภา
- บท 9 - นักปฏิรูปศาสนาชาวสวิส
- บท 10 - ความก้าวหน้าของการปฏิรูปในประเทศเยอรมนี
- บท 11 - การประท้วงของเจ้าครองแคว้นต่างๆ
- บท 12 - การปฏิรูปศาสนาในประเทศฝรั่งเศส
- บท 13 - ประเทศเนเธอร์แลนด์และแถบสแกนดิเนเวีย
- บท 14 - นักปฏิรูปศาสนาชาวอังกฤษรุ่นหลัง
- บท 15 - พระคัมภีร์กับการปฏิวัติในประเทศฝรั่งเศส
- บท 16 - บรรพบุรุษที่เป็นพิลกริม
- บท 17 - ผู้ประกาศข่าวของรุ่งอรุณ
- บท 18 -นักปฏิรูปชาวอเมริกันท่านหนึ่ง
- บท 19 - ความสว่างส่องเข้าไปในที่มืด
- บท 20 - การตื่นตัวครั้งยิ่งใหญ่ฝ่ายศาสนา
- บท 21 - คำเตือนที่ถูกปฏิเสธ
- บท 22 - เหตุการณ์เกิดขึ้นตามคำพยากรณ์
- บท 23 - สถานนมัสการคืออะไร
- บท 24 - อภิสุทธิสถาน
- บท 25 - พระบัญญัติของพระเจ้าเปลี่ยนแปลงไม่ได้
- บท 26 - ภารกิจหนึ่งของการปฏิรูป
- บท 27 - การฟื้นฟูยุคใหม่
- บท 28 - เผชิญหน้ากับหนังสือบันทึกแห่งชีวิต
- บท 29 - จุดเริ่มต้นของความชั่ว
- บท 30 - มนุษย์และซาตานเป็นศัตรูกัน
- บท 31 - สื่อวิญญาณชั่ว
- บท 32 - กับดักของซาตาน
- บท 33 - การหลอกลวงยิ่งใหญ่ครั้งแรก
- บท 34 - คนตายติดต่อกับเราได้หรือ
- บท 35 - เสรีภาพของจิตสำนึกถูกคุกคาม
- บท 36 - การขัดแย้งที่กำลังจะเกิดขึ้น
- บท 37 - พระคัมภีร์เป็นโล่ป้องกัน
- บท 38 - คำเตือนสุดท้าย
- บท 39 - เวลาแห่งความทุกข์ยาก
- บท 40 - ประชากรของพระเจ้าได้รับการช่วยกู้
- บท 41 - โลกร้างอ้างว้าง
- บท 42 - ความขัดแย้งสิ้นสุดแล้ว
Search Results
- Results
- Related
- Featured
- Weighted Relevancy
- Content Sequence
- Relevancy
- Earliest First
- Latest First
- Exact Match First, Root Words Second
- Exact word match
- Root word match
- EGW Collections
- All collections
- Lifetime Works (1845-1917)
- Compilations (1918-present)
- Adventist Pioneer Library
- My Bible
- Dictionary
- Reference
- Short
- Long
- Paragraph
No results.
EGW Extras
Directory
บท 9 - นักปฏิรูปศาสนาชาวสวิส
เป็นที่ประจักษ์ว่าในการคัดสรรบุคคลที่จะมาปฏิรูปคริสตจักร พระเจ้าทรงใช้แบบแผนเดียวกันกับการก่อตั้งคริสตจักร พระอาจารย์แห่งสวรรค์ทรงมองข้ามบุคคลยิ่งใหญ่ของโลก คนมียศศักดิ์และคนร่ำรวยที่คุ้นเคยกับคำเยินยอและเทิดทูนให้เป็นผู้นำของประชาชน พวกเขาเย่อหยิ่งและมั่นใจในตนเองกับสถานะที่เหนือชั้นกว่าของตนเกินกว่าที่จะยอมถูกหล่อหลอมจิตใจให้เห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมโลกและยอมที่จะเป็นผู้ร่วมงานของบุรุษแห่งเมืองนาซาเร็ธ พระดำรัสที่กล่าวกับชาวประมงกาลิลีที่ไม่มีการศึกษาและตรากตรำทำงานหนักว่า “จงตามเรามา และเราจะตั้งท่านให้เป็นผู้หาคนดั่งหาปลา” มัทธิว 4:19 สาวกเหล่านี้เป็นคนถ่อมและเป็นคนที่สอนได้ ยิ่งพวกเขารับอิทธิพลจากคำสอนจอมปลอมของยุคนั้นน้อยเท่าไร พระคริสต์ก็จะทรงสอนและฝึกพวกเขาเพื่องานรับใช้ของพระองค์ได้มากขึ้นเท่านั้น ในสมัยของงานปฏิรูปยิ่งใหญ่จึงมีสภาพเป็นเช่นนี้ นักปฏิรูปศาสนาแนวหน้าทั้งหลายเป็นคนที่มาจากพื้นฐานชีวิตที่ยากจนถ่อมตัวคือเป็นผู้ที่หลุดพ้นอย่างมากที่สุดจากความหยิ่งผยองของฐานะ และจากอิทธิพลของความทิฐิมานะ และเล่ห์กลของนักบวช แผนการของพระเจ้าเลือกที่จะใช้เครื่องมือที่ต่ำต้อยเพื่อผลที่ยิ่งใหญ่ แล้วเกียรติยศจะไม่เป็นของมนุษย์แต่จะถวายพระสิริแด่พระเจ้าผู้ทรงประกอบกิจผ่านพวกเขาให้เป็นไปตามน้ำพระทัยและพระประสงค์ของพระองค์ {GC 171.1}GCth17 139.1
สองสามสัปดาห์หลังจากลูเธอร์เกิดในกระท่อมชาวเหมืองที่แคว้นแซกโซนี อูลริค สวิงก์ลี [Ulric Zwingli] เกิดในกระต๊อบของคนเลี้ยงสัตว์ท่ามกลางเทือกเขาแอลป์ สภาพแวดล้อมของสวิงก์ลีในวัยเด็กและการฝึกอบรมในวัยเยาว์นั้นได้เตรียมเขาเพื่อทำงานรับใช้ในอนาคต เขาได้รับการเลี้ยงดูท่ามกลางความยิ่งใหญ่งดงามและล้ำเลิศของธรรมชาติ สติปัญญาของเขาถูกประทับด้วยความรู้สึกของความยิ่งใหญ่ มีพลังอำนาจและความเกรียงไกรของพระเจ้า ประวัติศาสตร์ผลงานอันกล้าหาญที่เกิดขึ้นในเทือกเขาบ้านเกิดของเขานั้นจุดประกายแรงบันดาลใจอันเยาว์วัยของเขา และเขานั่งอยู่เคียงข้างกายคุณย่าผู้เคร่งครัดศาสนา ตั้งใจฟังนิทานจากพระคัมภีร์อันล้ำค่าที่เธอรวบรวมจากตำนานและประเพณีสืบทอดมาของคริสตจักร ด้วยความสนใจอย่างกระตือรือร้นเขาฟังเรื่องราววีรกรรมอันน่ายกย่องของบรรพชนและผู้เผยพระวจนะ เรื่องของคนเลี้ยงแกะที่เฝ้าฝูงแกะบนเนินเขาของแผ่นดินปาเลสไตน์ที่ทูตสวรรค์มาแจ้งกับพวกเขา เรื่องของทารกน้อยแห่งหมู่บ้านเบธเลเฮมและบุรุษแห่งกางเขนคาลวารี {GC 171.2}GCth17 139.2
บิดาของสวิงก์ลีมีความปรารถนาเช่นเดียวกับยอห์น ลูเธอร์ที่ต้องการให้ลูกชายมีการศึกษาและได้ส่งเด็กชายออกไปจากหุบเขาบ้านเกิดตั้งแต่ยังเยาว์วัย สติปัญญาของเขาพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วจนไม่นานต่อมาเกิดเป็นปัญหาในการหาครูที่มีความสามารถมาสอนเขา เมื่ออายุ 13 ปีเขาไปที่เมืองเบิร์นซึ่งในเวลานั้นเป็นโรงเรียนที่โดดเด่นที่สุดของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ แต่ ณ ที่นี้ มีภัยอันตรายเรื่องหนึ่งปรากฏขึ้นที่คุกคามชะตาชีวิตของเขา นักบวชภราดรหลายองค์ทุ่มเทแย่งกันที่จะชักนำให้เขาก้าวเข้าสู่ชีวิตของนักบวช ในเวลานั้นพระนักบวชของนิกายโดมินิกันและฟรานซิสกันมีการแข่งขันกันที่จะแย่งความนิยมจากชาวบ้าน พวกเขาลงแรงตกแต่งโบสถ์ต่างๆ ของพวกเขาอย่างตระการตา มีพิธีกรรมอย่างโอ่อ่าและใช้เครื่องรางเรืองนามและของขลังเพื่อดึงดูดความสนใจ {GC 172.1}GCth17 140.1
นักบวชนิกายโดมินิกันแห่งเมืองเบิร์นเห็นว่าหากเขาสามารถเอาชนะนักศึกษาหนุ่มที่มีความสามารถสูงนี้มาเข้าเป็นพวกด้วยแล้ว พวกเขาจะได้ทั้งประโยชน์และเกียรติยศ ความหนุ่มแน่นของเขา ความสามารถตามธรรมชาติในการพูดและในการเขียนของเขาและอัจฉริยะทางดนตรีและกาพย์กลอนจะดึงดูดประชาชนเข้ามายังที่ประชุมของพวกเขาและเพิ่มรายได้ให้กับนิกายของตนได้ดีกว่าพิธีกรรมและการแสดงออกอย่างหรูหรา พวกเขาพากเพียรด้วยเล่ห์กลและคำป้อยอจนสามารถชักนำสวิงก์ลีเข้ามายังคอนแวนต์ของพวกตน เมื่อลูเธอร์ยังเป็นนักเรียนอยู่นั้น เขาต้องเก็บตัวเองอยู่ในห้องเล็กๆ ของคอนแวนต์และหากพระเจ้าไม่ทรงจัดเตรียมที่จะปลดปล่อยเขาแล้วเขาคงจะจมหายไปกับโลก ส่วนสวิงก์ลีนั้นไม่ได้รับอนุญาตให้เผชิญกับภัยอันตรายแบบเดียวกันนี้ ภายใต้การทรงนำของพระเจ้า คุณพ่อของเขารู้ระแคะระคายกับข่าวสารเรื่องแผนการของพวกนักบวช เขาไม่เคยตั้งใจที่จะปล่อยให้ลูกชายมีชีวิตที่เกียจคร้านและไร้ประโยชน์ของนักบวชทั้งหลาย เขาเห็นว่าชีวิตที่มีประโยชน์ในอนาคตของลูกกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงจึงรีบเรียกตัวเขากลับบ้านโดยไม่รอช้า {GC 172.2}GCth17 140.2
ชายหนุ่มเชื่อฟังคำสั่งนี้ แต่อยู่อย่างพึงพอใจในหุบเขาบ้านเกิดได้ไม่นานและไม่ช้าต่อมาเขาจึงกลับไปเรียนหนังสืออีก และเวลาผ่านไประยะหนึ่งเขาเดินทางไปกรุงบาเซล ที่นี่เองสวิงก์ลีได้ยินถึงเรื่องข่าวประเสริฐของพระคุณของพระเจ้าที่ประทานให้เปล่าๆ เป็นครั้งแรก วิทเทมบากครูสอนภาษาโบราณคนหนึ่งพบพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ทั้งเล่มในขณะที่ศึกษาภาษากรีกและฮีบรู และด้วยเหตุนี้ลำแสงแห่งความกระจ่างของพระเจ้าจึงส่องมายังสติปัญญาของนักเรียนที่เรียนอยู่กับเขา เขาประกาศว่ามีสัจธรรมที่เก่าแก่และมีคุณค่าอันไร้ขอบเขตมากกว่าทฤษฎีใดๆ ที่ครูในโรงเรียนและนักปราชญ์สอน สัจธรรมโบราณนี้คือความตายของพระคริสต์เป็นค่าไถ่เดียวของคนบาป สำหรับสวิงก์ลีแล้ว คำพูดเหล่านี้เป็นดั่งลำแสงแรกที่ส่องออกมาในยามรุ่งอรุณ {GC 173.1}GCth17 140.3
ไม่นานต่อมา พระเจ้าทรงเรียกสวิงก์ลีให้ออกจากกรุงบาเซลเพื่อทำงานที่สำคัญที่สุดในชีวิต ขอบข่ายงานชิ้นแรกของเขาอยู่ที่โบสถ์แห่งหนึ่งในเทือกเขาแอลป์ซึ่งห่างจากหุบเขาบ้านเกิดของเขาไม่ไกลมากนัก เมื่อเขาได้รับการเจิมตั้งให้เป็นบาทหลวงแล้ว ผู้ร่วมงานปฏิรูปคนหนึ่งกล่าวว่า เขา “อุทิศจิตวิญญาณทั้งหมดของเขาให้กับการค้นหาสัจธรรมของพระเจ้าเพราะเขาตระหนักดีว่าเขาจะต้องเรียนรู้มากสักเพียงไรเพื่อดูแลฝูงแกะที่พระคริสต์ทรงโปรดมอบความวางใจไว้กับเขา” Wylie เล่มที่ 8 บทที่ 5 ยิ่งเขาค้นหาพระคัมภีร์มากขึ้นเท่าไร เขาก็พบความแตกต่างระหว่างความจริงของพระคัมภีร์และคำสอนนอกรีตของโรม เขามอบความไว้วางใจให้กับพระคัมภีร์ว่าเป็นพระวจนะของพระเจ้า เป็นกฎเกณฑ์เดียวที่เพียบพร้อมและไม่ผิดเพี้ยน เขามองเห็นว่าพระคัมภีร์ต้องแปลความหมายของพระคัมภีร์เอง เขาไม่กล้าพยายามอธิบายพระคัมภีร์เพื่อสนับสนุนทฤษฏีหรือหลักคำสอนซึ่งตั้งสมมติฐานไว้แล้ว แต่ยึดมั่นว่าเป็นหน้าที่ของเขาที่จะเรียนรู้คำสอนซึ่งเป็นคำสอนที่ตรงไปตรงมาและชัดเจน เขามุ่งมั่นทำตัวให้พร้อมเพื่อสนับสนุนทุกความพยายามเพื่อเข้าใจความหมายให้ครบถ้วนและถูกต้องและเขายังทูลขอความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ซึ่งเขาประกาศว่าจะเป็นผู้เปิดเผยความหมายนั้นแก่ทุกคนที่แสวงหาด้วยความจริงใจและด้วยการอธิษฐาน {GC 173.2}GCth17 141.1
สวิงก์ลีกล่าวว่า “พระคัมภีร์มาจากพระเจ้า ไม่ได้มาจากมนุษย์ และยิ่งไปกว่านั้นพระเจ้าผู้ประทานความกระจ่างนี้จะประทานให้ท่านเข้าใจว่าคำพูดเหล่านี้มาจากพระเจ้า พระวจนะของพระเจ้าไม่ผิดพลาด เป็นพระวจนะที่แจ่มจำรัส มีคำสอนอยู่ในตัว เปิดเผยตนเอง ส่องสว่างให้จิตวิญญาณด้วยความรอดและพระคุณทั้งหมด ประโลมใจในพระเจ้า ถ่อมใจลง เพื่อยอมจำนนและแม้กระทั่งสละสิทธิ์ตนเองไปและกอดพระเจ้าไว้” สวิงก์ลีเองพิสูจน์ความจริงของคำพูดเหล่านี้แล้ว เขาเล่าถึงประสบการณ์ในช่วงเวลานี้ของชีวิตและเขียนไว้ในเวลาต่อมาว่า “เมื่อ......ข้าพเจ้าเริ่มที่จะมอบถวายตนเองทั้งหมดให้พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์แล้ว ปรัชญาและหลักคำสอนจะเสนอแนะคำขัดแย้งให้แก่ข้าพเจ้าเสมอ ในที่สุดข้าพเจ้าก็มาถึงจุดหนึ่งที่ข้าพเจ้าคิดว่า ‘ท่านต้องปล่อยวางทั้งหมดไว้และเรียนรู้ความหมายของพระเจ้าจากพระวจนะอันเรียบง่ายของพระองค์เอง’ แล้วข้าพเจ้าเริ่มทูลขอความกระจ่างของพระองค์ และพระคัมภีร์ก็กลายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นมากสำหรับข้าพเจ้า” Ibid. เล่มที่ 8 บทที่ 6 {GC 174.1}GCth17 141.2
หลักคำสอนที่สวิงก์ลีเทศน์นั้น เขาไม่ได้รับจากลูเธอร์ แต่เป็นหลักคำสอนของพระคริสต์ นักปฏิรูปชาวสวิสกล่าวว่า “หากลูเธอร์เทศนาเรื่องของพระคัมภีร์ เขาจะทำสิ่งที่ข้าพเจ้ากำลังทำอยู่ คนที่เขานำมาหาพระคริสต์มีจำนวนมากกว่าที่ข้าพเจ้านำมาเอง แต่เรื่องนี้ไม่สำคัญ ข้าพเจ้าจะไม่เป็นพยานถึงนามอื่นนอกจากพระนามของพระคริสต์ ข้าพเจ้าเป็นทหารของพระองค์และพระองค์ทรงเป็นหัวหน้าเพียงพระองค์เดียวของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่เคยเขียนอักษรสักคำไปหาลูเธอร์และเขาก็ไม่เคยเขียนถึงข้าพเจ้า ทำไม.....ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าพระวิญญาณของพระเจ้าทรงทำงานอย่างเป็นหนึ่งเดียวกันเนื่องจากเราทั้งสองไม่ได้สมรู้ร่วมคิดกันแต่สอนหลักคำสอนของพระคริสต์ที่เหมือนกันเช่นนี้” D’Aubigné เล่มที่ 8 บทที่ 9 {GC 174.2}GCth17 141.3
ในปี ค.ศ. 1516 สวิงก์ลีได้รับเชิญให้เป็นนักเทศน์ในคอนแวนต์ที่เมืองไอน์ซีเดน ที่นี่เองเขาจะได้เห็นความชั่วช้าของโรมได้อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นและจะได้ส่งอิทธิพลการเป็นนักปฏิรูปศาสนาให้แผ่ขยายไกลออกไปจากบ้านเกิดของเขาบนเทือกเขาแอลป์ ในบรรดาสิ่งที่ดึงดูดใจของเมืองไอน์ซีเดนนั้นมีรูปปั้นพระแม่พรหมจารีที่เชื่อกันว่ามีอำนาจกระทำการอัศจรรย์ได้ เหนือประตูทางเข้าคอนแวนต์มีข้อความจารึกไว้ว่า “สถานที่แห่งนี้ท่านจะได้รับการอภัยบาปอย่างสมบูรณ์” Ibid. เล่มที่ 8 บทที่ 5 ผู้แสวงบุญจะเดินทางมายังศาลของพระแม่พรหมจารีแห่งนี้ตลอดทุกฤดูกาล แต่งานเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ประจำปีของการเทิดทูนเกียรติจะมีฝูงชนมากันอย่างล้นหลามจากทุกสารทิศของประเทศสวิสเซอร์แลนด์แม้กระทั่งไกลไปถึงประเทศฝรั่งเศสและประเทศเยอรมนี สวิงก์ลีรู้สึกทุกข์ใจจากภาพเหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง เขาจึงฉวยโอกาสประกาศอิสรภาพผ่านการเทศนาข่าวประเสริฐแก่ผู้ที่ตกเป็นทาสของความเชื่องมงาย {GC 174.3}GCth17 142.1
เขาพูดว่า “โปรดอย่านึกภาพว่าพระเจ้าสถิตอยู่กับวิหารหลังนี้มากกว่าสถานที่อื่นๆ ซึ่งพระองค์ทรงสร้าง ไม่ว่าท่านจะพำนักอยู่ในประเทศใด พระเจ้าสถิตอยู่รอบตัวท่านและสดับฟังท่าน.....การกระทำที่ไม่เกิดประโยชน์ การเดินทางไกลเพื่อแสวงบุญ ของถวาย รูปปั้น การร้องอุทธรณ์ขอพระแม่พรหมจารีหรือนักบุญทั้งหลายจะทำให้ท่านได้รับพระคุณของพระเจ้ากระนั้นหรือ.....เราจะได้อะไรกับการพูดมากมายในคำอธิษฐานของเรา เราจะได้อะไรจากผ้าคลุมศีรษะเงางาม ศีรษะที่ถูกกล้อนอย่างราบเรียบ เสื้อคลุมยาวระย้อยหรือรองเท้าแตะทองคำ.....พระเจ้าทรงทอดพระเนตรที่จิตใจ และหัวใจของเราก็ห่างไกลจากพระองค์” เขาพูดต่ออีกว่า “พระคริสต์ผู้ทรงถูกตรึงกางเขนครั้งเดียวนั้นทรงเป็นเครื่องถวายบูชาและทรงเป็นเหยื่อที่เพียงพอแล้วสำหรับบาปของผู้เชื่อตลอดนิรันดร์กาล” Ibid. เล่มที่ 8 บทที่ 5 {GC 175.1}GCth17 142.2
คำสอนเช่นนี้ไม่เป็นที่ต้อนรับสำหรับผู้ฟังจำนวนมาก เป็นเรื่องน่าผิดหวังอย่างยิ่งสำหรับพวกเขาที่ได้รับการบอกเล่าว่าการเดินทางแสนเหนื่อยยากของพวกเขานั้นไร้ประโยชน์ พวกเขาไม่เข้าใจเรื่องการอภัยที่ให้เปล่าๆ ผ่านทางพระคริสต์ พวกเขาพอใจกับวิถีเดิมที่นำไปสู่สวรรค์ตามที่โรมจัดวางไว้ให้พวกเขา พวกเขาหดถอยจากความยุ่งยากในการค้นหาสิ่งที่ดีกว่า เป็นเรื่องง่ายที่จะวางใจมอบความรอดไว้กับบาทหลวงและพระสันตะปาปามากกว่าการแสวงหาความบริสุทธิ์แห่งจิตใจ {GC 175.2}GCth17 142.3
แต่มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่รับข่าวสารแห่งการช่วยให้รอดผ่านทางพระคริสต์ด้วยความชื่นชมยินดี การถือระเบียบต่างๆ ตามที่โรมกำหนดไม่อาจให้สันติสุขแก่จิตวิญญาณ และด้วยความเชื่อพวกเขายอมรับพระโลหิตของพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อไถ่บาปของพวกเขา คนเหล่านี้กลับไปยังบ้านและเปิดเผยความกระจ่างอันล้ำค่าที่พวกเขาได้รับให้แก่คนอื่นๆ ความจริงจึงกระจายจากหมู่บ้านหนึ่งไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง จากเมืองหนึ่งไปสู่อีกเมืองหนึ่งและจำนวนของผู้แสวงบุญที่ไปยังศาลเจ้าพระแม่พรหมจารีลดลงอย่างมาก เงินถวายก็ลดลงและส่งผลต่อเงินเดือนของสวิงก์ลีที่มาจากเงินถวายเหล่านั้น แต่เรื่องเช่นนี้ทำให้เขามีความสุขเมื่อเขาเห็นอำนาจของความคลั่งไคล้และความงมงายเริ่มแตกสลายไป {GC 175.3}GCth17 142.4
ผู้มีอำนาจในคริสตจักรไม่ได้ตาบอดกับงานที่สวิงก์ลีบรรลุผล แต่สำหรับเวลานี้ พวกเขาอดทนที่จะไม่เข้าไปขัดขวาง หวังว่ายังจะใช้เขาทำงานตามอุดมการณ์ของพวกตน พวกเขาลงแรงเพื่อเอาชนะเขาด้วยคำเยินยอและในขณะเดียวกันสัจธรรมกำลังเข้ายึดครองหัวใจของประชาชน {GC 176.1}GCth17 143.1
การทำงานของสวิงก์ลีที่เมืองไอน์ซีเดนฝึกเขาให้ทำงานในขอบเขตที่กว้างขึ้นซึ่งเขาจะต้องก้าวเข้าไปในไม่ช้า หลังจากอยู่ที่นี่สามปี เขาได้รับเชิญให้ไปอยู่ที่สำนักนักเทศน์ในโบสถ์ของเมืองซูริค ในเวลานั้นที่นี่เป็นเมืองสำคัญที่สุดของสมาพันธ์สวิส และอิทธิพลใดที่เคลื่อนไหวออกจากที่นี่จะมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง แต่คณะนักบวชที่เชิญเขามายังเมืองซูริคตั้งใจขัดขวางแนวคิดใหม่ใดๆ ที่จะเกิดขึ้น พวกเขาจึงดำเนินการต่อด้วยการแนะแนวถึงหน้าที่ต่างๆ ของเขา {GC 176.2}GCth17 143.2
พวกเขาแจกแจงว่า “ท่านต้องบากบั่นทุกทางที่จะจัดเก็บรายได้ของหน่วยโดยไม่มองข้ามเรื่องเล็กน้อยที่สุด ท่านต้องเคี่ยวเข็ญคนที่ซื่อสัตย์ ทั้งจากบนธรรมาสน์และในห้องสารภาพผิดให้ชำระสิบลดและเงินถวายอื่นที่ต้องจ่ายและให้ใช้เงินถวายเป็นตัววัดความรักที่มีต่อคริสตจักร ท่านต้องขยันในการเพิ่มรายได้จากคนเจ็บป่วย จากมวลชนทั้งหลายและโดยทั่วไปจากทุกคำสั่งของคณะนักบวช” พวกเขาสำทับต่อไปอีกว่า “การประกอบพิธีศาสนาต่างๆ การเทศนาและการอภิบาลฝูงแกะก็เป็นหน้าที่ของอนุศาสกเช่นกัน แต่สำหรับเรื่องเหล่านี้ ท่านอาจหาคนมาทำแทนได้และโดยเฉพาะในเรื่องของการเทศนา ท่านไม่ควรประกอบพิธีศาสนาแก่ผู้ใดนอกจากผู้ที่มีชื่อเสียงและจะประกอบก็ต่อเมื่อได้รับเชิญ ท่านห้ามประกอบพิธีโดยปราศจากการแบ่งแยกคนทั้งหลาย” Ibid. เล่มที่ 8 บทที่ 6 {GC 176.3}GCth17 143.3
สวิงก์ลีฟังคำสั่งนี้อย่างเงียบๆ และหลังจากแสดงความขอบคุณที่ได้รับเกียรติมารับตำแหน่งสำคัญนี้ เขาอธิบายต่อไปเสนอแนวทางที่เขาจะทำ เขาพูดว่า “ชีวิตของพระคริสต์ถูกปกปิดไว้จากประชาชนนานเกินไปแล้ว ข้าพเจ้าจะเทศนาพระธรรมพระกิตติคุณทั้งหมดเริ่มจากมัทธิว.........ซึ่งจะคัดมาจากพระคัมภีร์เพียงแหล่งเดียว หยั่งลึกถึงก้นบึ้ง เปรียบเทียบข้อพระคัมภีร์กับอีกข้อพระคัมภีร์และค้นหาความเข้าใจด้วยการอธิษฐานอยู่เสมอและอย่างกระตือรือร้น ข้าพเจ้าจะมอบถวายการรับใช้เพื่อถวายพระเกียรติพระเจ้า เพื่อสรรเสริญพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ เพื่อความรอดของจิตวิญญาณและเพื่ออบรมในทางธรรมของความเชื่อที่แท้จริง” Ibid. เล่มที่ 8 บทที่ 6 ถึงแม้คณะสงฆ์ส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับแผนการของเขาและพยายามห้ามปรามเขาก็ตาม สวิงก์ลีคงยืนหยัดอย่างหนักแน่น เขาประกาศว่าเขาไม่ได้เสนอแนะวิธีการใหม่ใดๆ เลย แต่เป็นวิธีการเก่าแก่ที่คริสตจักรใช้ในสมัยแรกเริ่มและในยุคที่ยังบริสุทธิ์อยู่ {GC 176.4}GCth17 144.1
สัจธรรมที่เขาสอนกระตุ้นความสนใจให้ตื่นขึ้นแล้ว และประชาชนจำนวนมากพากันเข้ามาฟังคำเทศนาของเขา รวมถึงหลายคนที่เลิกเข้าร่วมนมัสการมานานแล้ว เขาเริ่มงานรับใช้ของเขาด้วยการเปิดพระธรรมพระกิตติคุณ อ่านและอธิบายถึงเรื่องชีวิต คำสอนและความตายอันดลใจของพระคริสต์แก่ผู้ฟังของเขา เช่นเดียวกับที่เมืองไอน์ซีเดน เขาเสนอพระวจนะของพระเจ้าว่าเป็นสิทธิอำนาจอันไม่แปรเปลี่ยน และความตายของพระคริสต์เป็นการถวายบูชาเดียวที่สมบูรณ์แบบ เขาพูดว่า “ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะนำท่านไปหาพระคริสต์ ไปยังพระคริสต์ผู้ทรงเป็นต้นกำเนิดแห่งความรอดที่แท้จริง” Ibid. เล่มที่ 8 บทที่ 6 ประชาชนทุกชนชั้นรายล้อมนักเทศน์ท่านนี้ไว้ ตั้งแต่รัฐบุรุษและผู้คงแก่เรียนไปจนถึงช่างฝีมือและชาวนา พวกเขาฟังถ้อยคำของเขาด้วยความสนใจอย่างล้ำลึก เขาไม่เพียงแต่ประกาศเสนอความรอดที่ให้เปล่าๆ แต่ยังตำหนิความชั่วและความทุจริตในยุคนั้นอย่างไม่เกรงกลัวผู้ใด หลายคนออกจากโบสถ์พร้อมกับสรรเสริญพระเจ้า พวกเขาพูดกันว่า “ชายคนนี้เป็นนักเทศน์แห่งความจริง เขาจะเป็นโมเสสของเราเพื่อนำเราออกจากความมืดของชาวอียิปต์” Ibid. เล่มที่ 8 บทที่ 6 {GC 177.1}GCth17 144.2
แต่แม้ว่างานของเขาได้รับการต้อนรับในช่วงแรกอย่างกระตือรือร้นก็ตาม ผ่านไประยะหนึ่งการต่อต้านก็ปรากฏขึ้น พระนักบวชจำนวนหนึ่งตั้งตนขึ้นเพื่อขัดขวางงานของเขาและประณามคำสอนของเขา หลายคนโจมตีเขาด้วยคำถากถางและการเยาะเย้ย คนอื่นๆ หันไปใช้วิธีหยาบคายและการข่มขู่ แต่สวิงก์ลีรับมือกับเรื่องทั้งหมดด้วยความอดทน เขาพูดว่า “หากเราปรารถนาที่จะนำคนชั่วมาอยู่ฝ่ายของพระเยซูคริสต์แล้ว เราต้องปิดตาให้กับหลายสิ่ง” Ibid. เล่มที่ 8 บทที่ 6 {GC 177.2}GCth17 144.3
ประมาณช่วงเวลานี้มีตัวแทนคนใหม่เข้ามาช่วยงานการปฏิรูปให้คืบหน้าต่อไป มีสหายคนหนึ่งที่ศรัทธาในการปฏิรูปจากเมืองบาเซลได้ส่งลูเซียนคนหนึ่งมายังเมืองซูริค พร้อมนำผลงานเขียนของลูเธอร์ติดตัวมาด้วย เขาแนะนำว่าการขายหนังสือเหล่านี้อาจเป็นวิธีอันทรงพลังในการกระจายความกระจ่างให้กว้างขวางออกไป เขาเขียนจดหมายถึงสวิงก์ลีความว่า “ให้ทดสอบชายคนนี้ว่ามีความรอบคอบและความสามารถเพียงพอหรือไม่ หากมีก็ให้เขานำผลงานของลูเธอร์ไปยังทุกเมือง ทุกตำบล ทุกหมู่บ้านและแม้กระทั่งทุกๆ บ้านในประเทศสวิสเซอร์แลนด์และโดยเฉพาะการอธิบายคำอธิษฐานขององค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างละเอียดที่เขียนไว้ให้คนทั่วไปอ่าน ยิ่งมีคนรู้มาก ก็จะยิ่งมีคนต้องการซื้อมากขึ้น” Ibid. เล่มที่ 8 บทที่ 6 ด้วยวิธีเช่นนี้ความกระจ่างจึงได้พบประตูทางเข้า {GC 178.1}GCth17 145.1
ในช่วงเวลาที่พระเจ้าจะทรงตัดโซ่ตรวนของความโง่เขลาและความงมงาย ก็เป็นเวลาที่ซาตานทำงานอย่างสุดกำลังยิ่งขึ้นเพื่อปกปิดมนุษย์ให้อยู่ในความมืดและล่ามโซ่พวกเขาให้แน่นหนายิ่งขึ้น ขณะที่มนุษย์กำลังลุกขึ้นในดินแดนต่างๆ เพื่อนำเสนอเรื่องการอภัยและการชำระให้บริสุทธิ์โดยผ่านทางพระโลหิตของพระคริสต์ให้แก่ประชาชนทั่วไปนั้น โรมก็ดำเนินการต่อไปด้วยพลังที่เสริมขึ้นใหม่เพื่อเปิดตลาดของเธอให้ครอบคลุมทั่วอาณาจักรของคริสเตียน โดยเสนอการอภัยด้วยการแลกกับเงิน {GC 178.2}GCth17 145.2
ทุกบาปมีราคาติดไว้และคนทั้งหลายได้รับใบอนุญาตทำบาปอย่างเสรีหากคลังสมบัติของคริสตจักรจะเต็มอยู่เสมอ ดังนั้นขบวนการทั้งสองดำเนินหน้าต่อไปคือขบวนการหนึ่งเสนอการอภัยบาปด้วยการแลกกับเงินและอีกขบวนการหนึ่งเสนอการอภัยบาปโดยผ่านพระคริสต์ โรมอนุญาตให้ทำบาปได้และใช้เป็นแหล่งที่มาของรายได้ ส่วนนักปฏิรูปประณามบาปและชี้ไปยังพระคริสต์ผู้ทรงชำระและทรงไถ่บาป {GC 178.3}GCth17 145.3
ในประเทศเยอรมนี งานของการขายใบลบมลทินบาปได้ถูกมอบหมายให้พวกนักบวชภราดรคณะโดมินิกันและให้เทคเซลผู้โหดเหี้ยมเป็นผู้ดำเนินการ ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์การค้าใบลบมลทินบาปนั้นตกอยู่ในมือของนักบวชภราดรคณะฟรานซิสกันภายใต้การควบคุมของแซมสันผู้เป็นนักบวชชาวอิตาเลียน แซมสันเคยทำงานรับใช้คริสตจักรอย่างดีมาแล้วด้วยการนำเงินมหาศาลจากประเทศเยอรมนีและประเทศสวิสเซอร์แลนด์เข้าคลังของระบอบเปปาซี บัดนี้เขาเดินทางไปทั่วประเทศสวิสเซอร์แลนด์เพื่อดึงดูดฝูงชนจำนวนมาก ปล้นเงินทองเล็กน้อยที่ชาวนาผู้ยากไร้หามาและรีดไถสมบัติมีค่ามากมายจากชนชั้นร่ำรวย แต่ผลกระทบของการปฏิรูปทำให้รายได้ลดน้อยลงแม้จะยังไม่หยุดชะงักไป ในขณะที่สวิงก์ลียังอยู่ที่ไอน์ซีเดนนั้นแซมสันเดินทางเข้ามายังประเทศสวิสเซอร์แลนด์และในเวลาต่อมาไม่นานเดินทางมาถึงหมู่บ้านใกล้เคียงพร้อมสินค้าของเขา เมื่อนักปฏิรูปศาสนาได้รับรายงานถึงพันธกิจของเขา เขาก็ออกเดินทางเพื่อไปต่อต้านทันที ทั้งสองไม่ได้เผชิญหน้ากัน แต่ความสำเร็จตกเป็นของสวิงก์ลีเมื่อสามารถเปิดโปงการหลอกลวงของนักบวชภราดรผู้นี้จนเขาต้องหลบไปหาสถานที่แห่งใหม่ {GC 178.4}GCth17 145.4
ที่เมืองซูริค สวิงก์ลีเทศนาอย่างเร่าร้อนต่อต้านคนเร่ขายใบลบมลทินบาปและเมื่อแซมสันเดินทางมาถึงที่นั่น มีผู้ส่งข่าวจากสภามาแจ้งเขาว่าให้เดินทางต่อไป แต่ในที่สุดเขาใช้เล่ห์อุบายจนสามารถเข้าเมืองได้ แต่ถูกขับออกไปโดยไม่ได้ขายใบลบมลทินบาปแม้เพียงสักใบและไม่นานต่อมาเขาก็ออกจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ {GC 179.1}GCth17 145.5
การปฏิรูปศาสนาได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากโรคระบาดที่เกิดขึ้นซึ่งเรียกกันว่าความตายครั้งยิ่งใหญ่ที่กวาดไปทั่วประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1519 เมื่อมนุษย์เผชิญหน้ากับผู้ทำลาย หลายคนมาถึงจุดที่รู้สึกว่าการอภัยโทษบาปที่เขาซื้อไว้เมื่อไม่นานมานี้มันช่างอนิจจังและไร้ค่าเพียงไรและพวกเขาตั้งตารอคอยรากฐานของความเชื่อที่มั่นคงกว่านี้ สวิงก์ลีล้มป่วยลงที่เมืองซูริค และสภาพของเขาหมดหวังอย่างสิ้นเชิงที่จะหายป่วยและมีข่าวแพร่กระจายทั่วไปว่าเขาตายไปแล้ว ในห้วงเวลาวิกฤตแห่งการทดลองนั้น ความหวังและกำลังใจของเขาไม่สั่นคลอน เขามองไปยังกางเขนแห่งคาลวารีด้วยความเชื่อ วางใจในการอภัยจากบาปที่มีอย่างเพียงพอ เมื่อเขากลับออกมาจากประตูมรณะ เขาเทศนาข่าวประเสริฐด้วยความกระตือรือร้นยิ่งขึ้นกว่าก่อนและคำพูดของเขาส่งผลที่มีอำนาจมากกว่าเก่า ประชาชนต้อนรับอาจารย์ที่รักยิ่งของพวกเขาที่กลับจากปากแดนของหลุมศพด้วยความยินดี พวกเขาเองก็มาจากการดูแลคนเจ็บและคนที่จวนจะตายและพวกเขาสัมผัสได้ถึงคุณค่าของข่าวประเสริฐอย่างที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน {GC 179.2}GCth17 146.1
สวิงก์ลีค้นพบความเข้าใจแห่งสัจธรรมด้วยความชัดเจนยิ่งขึ้น และได้ประสบด้วยตนเองอย่างเต็มที่ถึงอำนาจของการฟื้นฟูขึ้นใหม่ เขาใส่ใจในเรื่องการล้มลงในบาปของมนุษย์และแผนการไถ่ให้รอด เขาพูดว่า “โดยทางอาดัม เราทุกคนตายหมด จมปลักอยู่ในความเสื่อมโทรมและถูกกำหนดลงโทษ” Wylie เล่มที่ 8 บทที่ 9 “พระคริสต์......ทรงไถ่เราให้ได้รับความรอดที่ไม่มีวันสิ้นสุด.......การทนทุกข์ระทมของพระองค์เป็นเครื่องถวายบูชาชั่วนิรันดร์และมีฤทธิ์แห่งการรักษาอย่างยั่งยืน สร้างความพอพระทัยแก่ความยุติธรรมของพระเจ้าไปตลอดกาลเพื่อเห็นแก่ทุกคนที่วางใจด้วยความเชื่อที่มั่นคงและไม่หวั่นไหว” อย่างไรก็ตามเขายังสอนอย่างชัดเจนว่าเนื่องด้วยพระคุณของพระคริสต์ มนุษย์ไม่มีเสรีภาพที่จะทำบาปอีกต่อไป “ที่ใดที่มีความเชื่อในพระเจ้า พระเจ้าสถิตอยู่ที่นั่นและที่ใดที่พระเจ้าทรงร่วมสถิตอยู่ด้วยแล้วที่นั่นจะมีความกระตือรือร้นที่จะเร่งเร้าและบังคับให้มนุษย์ทำการดี” D’Aubigné หน้า 8 บทที่ 9 {GC 180.1}GCth17 146.2
คำเทศนาเช่นนี้ปลุกความสนใจจนมีคนเข้ามาฟังเขาเทศน์จนล้นโบสถ์ เขาเปิดเผยสัจธรรมทีละเล็กทีละน้อยให้แก่ผู้ฟังเท่าที่พวกเขาจะรับได้ ในตอนแรก เขาระมัดระวังที่จะไม่นำเสนอเรื่องที่จะทำให้พวกเขาตื่นตกใจและก่อให้เกิดอคติ งานของเขาคือการเอาชนะจิตใจของพวกเขาให้เข้ามาหาคำสอนของพระคริสต์ เพื่อให้ความรักของพระองค์ทำให้จิตใจของพวกเขาอ่อนโยนลงและยกชูแบบอย่างของพระองค์ไว้ต่อหน้า และเมื่อพวกเขาพร้อมที่จะรับหลักการของข่าวประเสริฐ ความเชื่อและการกระทำที่งมงายของพวกเขาจะพ่ายแพ้ไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ {GC 180.2}GCth17 146.3
การปฏิรูปศาสนาในเมืองซูริคคืบหน้าไปทีละก้าว ด้วยความหวาดผวา ศัตรูของการปฏิรูปถูกปลุกเร้าให้ต่อต้านอย่างแข็งขัน หนึ่งปีก่อนหน้านี้ พระนักบวชแห่งเมืองวิตเทนเบิรก์เอ่ยปากปฏิเสธพระสันตะปาปาและจักรพรรดิที่ให้ไปปรากฏตัวที่เมืองวอร์มส์และบัดนี้ดูเหมือนว่าทุกสิ่งบ่งบอกถึงการคัดค้านข้อกล่าวหาของระบอบเปปาซีที่เมืองซูริคเช่นกัน มีการโจมตีใส่สวิงก์ลีครั้งแล้วครั้งเล่า ในแคนเทินของระบอบเปปาซี [Canton เขตการปกครองขนาดเล็กของระบอบเปปาซี] มีการจับสาวกของข่าวประเสริฐไปยังตะแลงแกงเผาทั้งเป็นอยู่เป็นระยะๆ แต่นี่ยังไม่พอ จะต้องปิดปากครูสอนนอกรีตให้เงียบไปด้วย เพื่อให้เป็นไปตามที่วางแผนไว้ บิชอปแห่งเมืองคอนสเตนซ์จัดส่งผู้ช่วยสามคนไปยังสภาของเมืองซูริคเพื่อกล่าวหาสวิงก์ลีเรื่องการสอนประชาชนให้ละเมิดกฎระเบียบของคริสตจักร การทำเช่นนี้จะคุกคามต่อสันติภาพและระเบียบวินัยอันดีของสังคม เขาย้ำว่าหากยกเว้นผู้มีอำนาจของคริสตจักรคนหนึ่งจะทำให้เกิดความสับสนอลหม่านไปทั่ว สวิงก์ลีตอบพวกเขาว่า ตลอดสี่ปีมานี้ เขาสอนข่าวประเสริฐที่เมืองซูริค “ซึ่งมีความสงบและมีสันติสุขมากกว่าเมืองอื่นๆในสมาพันธ์นี้” เขาพูดว่า “คริสต์ศาสนาไม่ใช่โล่คุ้มภัยทั่วไปที่ดีที่สุดหรือ” Wylie เล่มที่ 8 บทที่ 11 {GC 180.3}GCth17 147.1
พวกผู้ช่วยให้คำแนะนำเตือนสมาชิกสภาให้คงอยู่ในคริสตจักรต่อไป พวกเขาประกาศว่าหากออกไปจากที่นี่ก็จะไม่มีความรอด สวิงก์ลีตอบสนองโดยให้กำลังใจแก่เหล่าสมาชิกสภาว่า “ขออย่าให้คำกล่าวหานี้ทำให้พวกท่านหวั่นไหวเลย รากฐานของคริสตจักรคือพระศิลา คือพระคริสต์องค์เดียวกับที่ประทานนามนี้ให้เปโตรเพราะเขายอมรับพระองค์อย่างสัตย์ซื่อ ในทุกประเทศ ผู้ใดก็ตามที่เชื่ออย่างสุดจิตสุดใจในพระเยซูคริสต์เจ้าจะเป็นที่ยอมรับของพระเจ้า แท้จริงแล้ว สถานที่แห่งนี้คือคริสตจักร ออกจากที่นี่แล้วจะไม่มีผู้ใดได้รับความรอด” D’Aubigné London ed. เล่มที่ 8 บทที่ 11 จากผลของการประชุมครั้งนี้ ผู้ช่วยคนหนึ่งของบิชอปได้รับความเชื่อของการปฏิรูป {GC 181.1}GCth17 147.2
สภาบอกปัดที่จะตัดสินลงโทษสวิงก์ลีและโรมเตรียมตัวที่จะเข้าจู่โจมใหม่อีกครั้ง นักปฏิรูปศาสนาเมื่อได้รับแจ้งถึงการวางแผนของศัตรูก็อุทานขึ้นมาว่า “ให้พวกเขาเข้ามาเลย ข้าพเจ้ากลัวเขาเหมือนหน้าผาหินกลัวคลื่นที่ซัดกระหน่ำใส่ตีนหน้าผา” Wylie เล่มที่ 8 บทที่ 11 ความพยายามของคณะนักบวชมีแต่ทำให้ขบวนการที่พวกเขาพยายามล้มล้างเติบโตขึ้น สัจธรรมยังคงแพร่กระจายออกไป ในประเทศเยอรมนีผู้ที่ยึดถือความเชื่อนี้ที่โศกเศร้าจากการหายตัวไปของลูเธอร์กลับมีกำลังใจอีกครั้งหนึ่งเมื่อมองเห็นความก้าวหน้าของข่าวประเสริฐในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ {GC 181.2}GCth17 147.3
ในขณะที่การปฏิรูปทางศาสนาหยั่งรากลงในเมืองซูริคได้อย่างมั่นคงแล้ว ผลลัพธ์ที่เห็นอย่างเด่นชัดคือการกำจัดความชั่วและการส่งเสริมความเป็นระเบียบและความสามัคคีกัน สวิงก์ลีเขียนบันทึกไว้ว่า “สันติสุขได้เข้ามาอยู่ในเมืองของเราแล้ว ไม่มีการทะเลาะกัน ไม่มีเรื่องหน้าไหว้หลังหลอก ไม่มีความอิจฉาริษยา ไม่มีการต่อสู้ขัดแย้งกัน ความเป็นหนึ่งเดียวกันเช่นนี้จะมาจากที่ใดได้นอกจากจะมาจากพระเจ้าและคำสอนของเราซึ่งเติมเต็มพวกเราด้วยผลของสันติสุขและความเคร่งครัดในศาสนา” Ibid. เล่มที่ 8 บทที่ 15 {GC 181.3}GCth17 147.4
ชัยชนะที่การปฏิรูปศาสนาได้รับนั้นยั่วยุเหล่าผู้นิยมลัทธิโรมันให้ยิ่งมุ่งมั่นบากบั่นที่จะโค่นล้มอุดมการณ์นี้ลงให้ได้ เมื่อพวกเขาเห็นว่าการใช้วิธีกดขี่ข่มเหงมีผลเพียงเล็กน้อยต่อการกำจัดงานของลูเธอร์ในประเทศเยอรมนี พวกเขาตัดสินใจที่จะใช้วิธีหนามยอกเอาหนามบ่งกับการปฏิรูปด้วยอาวุธของมันเอง พวกเขาจะจัดเวทีโต้วาทีกับสวิงก์ลีขึ้นและวางแผนการดำเนินงานที่มั่นใจว่าจะได้ชัยชนะโดยเลือกคนของตนเองไม่เพียงแต่สถานที่ต่อสู้เท่านั้น แต่รวมถึงคณะผู้ตัดสินการโต้เวทีครั้งนี้ด้วย และหากพวกเขาสามารถควบคุมสวิงก์ลีให้อยู่ภายใต้อำนาจของพวกเขาแล้วพวกเขาจะต้องดูแลไม่ให้เขาหนีรอด เมื่อใดที่ปิดปากผู้นำได้ ขบวนการนี้จะถูกบดขยี้ไปได้อย่างรวดเร็ว จุดมุ่งหมายนี้ถูกปกปิดไว้อย่างระมัดระวัง {GC 181.4}GCth17 148.1
เวทีโต้วาทีนี้กำหนดให้จัดขึ้นที่เมืองเบเดน แต่สวิงก์ลีไม่ได้ไปปรากฏตัวที่นั่น สภาของเมืองซูริคสงสัยแผนของเหล่าผู้นิยมระบอบเปปาซีและได้รับการเตือนจากกองเพลิงที่ถูกจุดขึ้นในแคนเทินสำหรับผู้ที่ยึดข่าวประเสริฐ พวกเขาจึงสั่งห้ามศาสนาจารย์ของตนไปเปิดเผยตัวเองให้เป็นเป้าของภัยนี้ ที่เมืองซูริคเขาพร้อมที่จะพบหน้ากับพรรคพวกที่โรมจะส่งมา แต่การที่จะเดินทางไปยังเมืองเบเดนที่ซึ่งเลือดของผู้พลีชีพเพื่อความจริงเพิ่งจะหลั่งไปนั้นจะเป็นการเข้าหาความตายอย่างแน่นอน อีโคลัมพาเดียสและแฮลเลอร์ [Oecolampadius and Haller] ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของนักปฏิรูปศาสนาในขณะที่ ดร. เอคผู้โด่งดังซึ่งบรรดาดุษฎีบัณฑิตและพระราชาคณะให้การสนับสนุนเป็นผู้แทนฝ่ายโรม {GC 182.1}GCth17 148.2
แม้สวิงก์ลีไม่ได้ปรากฏตัวที่ห้องประชุม ผู้คนในที่แห่งนั้นสัมผัสได้ถึงอิทธิพลของเขา เลขาทั้งหมดได้รับการคัดเลือกโดยกลุ่มผู้นิยมระบอบเปปาซีและคนอื่นๆ ถูกสั่งห้ามบันทึกข้อความใดๆ เป็นอันขาด โดยมีโทษถึงตาย อย่างไรก็ตามทุกวันสวิงก์ลีได้รับรายงานบันทึกอย่างเที่ยงตรงถึงเรื่องทั้งหมดที่พูดในเมืองเบเดน ทุกคืนนักเรียนคนหนึ่งที่เข้าฟังการโต้วาทีได้จดบันทึกสิ่งที่โต้เถียงกันในวันนั้น นักเรียนอีกสองคนอาสานำเอกสารนี้ส่งพร้อมจดหมายของอีโคลัมพาเดียสไปให้สวิงก์ลีที่เมืองซูริค นักปฏิรูปศาสนาจะตอบจดหมายพร้อมให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะ เขาเขียนจดหมายในเวลากลางคืนและนักเรียนนำกลับไปยังเมืองเบเดนในเช้าวันรุ่งขึ้น เพื่อหลบหลีกความเข้มงวดในการตรวจตราของยามที่เฝ้าอยู่ตรงประตูกำแพงเมือง ผู้สื่อข่าวเหล่านี้เอาตะกร้าเป็ดไก่ทูนวางบนศีรษะจึงเดินผ่านได้โดยไม่มีอุปสรรคใดเลย {GC 182.2}GCth17 148.3
ด้วยวิธีเช่นนี้สวิงก์ลียืนหยัดต่อสู้กับศัตรูเจ้าเล่ห์ของเขา ไมโคเนียสพูดว่า “ ด้วยการใคร่ครวญไตร่ตรอง อดหลับอดนอนของเขา และด้วยคำแนะนำที่ส่งไปยังเมืองเบเดน เขากลับทำงานได้มากกว่าการไปอภิปรายด้วยตนเองท่ามกลางศัตรูของเขา” D’Aubigné เล่มที่ 11 บทที่ 13 {GC 183.1}GCth17 148.4
บรรดาผู้นิยมลัทธิโรมันเต็มล้นด้วยชัยชนะที่คาดว่าจะได้ พวกเขาพากันเดินทางมายังเมืองเบเดนสวมใส่ชุดอาภรณ์หรูที่สุดและตกแต่งด้วยเครื่องประดับแวววาว พวกเขาอยู่อย่างสุขกายสบายใจ โต๊ะอาหารเต็มไปด้วยอาหารชั้นเลิศและเหล้าไวน์ที่ผ่านการคัดสรรมาอย่างดีที่สุดแล้ว พวกเขาชดเชยภาระหนักในหน้าที่ของศาสนกิจด้วยความรื่นเริงและการสนุกสนานอย่างสำมะเลเทเมา แตกต่างอย่างชัดแจ้งจากพวกนักปฏิรูปศาสนา ซึ่งประชาชนมองดูพวกเขาว่าดีกว่าพวกขอทานเพียงเล็กน้อยและความมัธยัสถ์ในการใช้เงินของพวกเขาทำให้พวกเขาอยู่ที่โต๊ะอาหารเพียงชั่วครู่ บางครั้งเจ้าของบ้านที่อีโคลัมพาเดียสพักอาศัยด้วย ถือโอกาสสังเกตเขาในห้องของเขา พบว่าเขาศึกษาและอธิษฐานอยู่ตลอดเวลาและรู้สึกสงสัยอย่างยิ่งจนต้องรายงานว่าอย่างน้อยที่สุดคนนอกรีตก็เป็นคนที่ “เคร่งครัดศาสนาอย่างมากยิ่ง” {GC 183.2}GCth17 149.1
ที่ประชุม “เอคเดินอย่างจองหองขึ้นธรรมาสน์ที่ตกแต่งอย่างหรู ในขณะที่อีโคลัมพาเดียสแต่งตัวอย่างถ่อมตน ถูกบังคับให้นั่งบนเก้าอี้ไม้เดี่ยวที่แกะสลักอย่างหยาบๆ อยู่ข้างหน้าคู่ต่อสู้” Ibid. เล่มที่ 11 บทที่ 13 เสียงดังฟังชัดและความมั่นใจของเอคไม่เคยทำให้เขาผิดหวัง ความกระตือรือร้นของเขาถูกกระตุ้นด้วยความหวังในทองคำและชื่อเสียงเพราะผู้ที่ปกป้องความเชื่อจะได้รับเงินตอบแทนอย่างงดงาม เมื่อคำถกเถียงที่ดีล้มเหลวเขาก็หันไปใช้คำหมิ่นประมาทและแม้แต่คำสาบานแทน {GC 183.3}GCth17 149.2
อีโคลัมพาเดียสเสงี่ยมเจียมตัวและไม่วางใจในตัวเอง เขาเคยถอยออกจากการต่อสู้มาก่อนแล้ว แต่ครั้งนี้เขาก้าวเข้ามาด้วยคำปฏิญาณอันเคร่งขรึมว่า “ข้าพเจ้าไม่ยอมรับมาตรฐานการพิพากษาอื่นใดนอกจากพระวจนะของพระเจ้า” Ibid. เล่มที่ 11 บทที่ 13 แม้จะอ่อนสุภาพและท่าทางที่มีมารยาท เขาผ่านการพิสูจน์ว่ามีความสามารถและไม่สะทกสะท้าน ในขณะที่ผู้นิยมลัทธิโรมัน ร้องขอการใช้สิทธิอำนาจในการดำเนินตามธรรมเนียมปฏิบัติของคริสตจักรซึ่งพวกเขาปฏิบัติกันมาจนเป็นนิสัย นักปฏิรูปศาสนาท่านนี้ยึดมั่นอย่างมั่นคงในพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ แย้งว่า “ธรรมเนียมปฏิบัติไม่มีผลบังคับใช้ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ของเรา นอกเสียจากว่าจะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และในขณะนี้ ในเรื่องของความเชื่อนั้น พระคัมภีร์เป็นรัฐธรรมนูญของเรา” Ibid. เล่มที่ 11 บทที่ 13 {GC 183.4}GCth17 149.3
ความแตกต่างระหว่างผู้โต้เถียงทั้งสองนี้ใช่ว่าไม่มีผล การใช้เหตุผลอย่างสงบนิ่งและโปร่งใสของนักปฏิรูปที่เสนอไปอย่างสุภาพอ่อนโยนและถ่อมตนเป็นที่ถูกใจของสติปัญญาของผู้ที่หันหนีด้วยความสะอิดสะเอียนจากเรื่องทึกทักเอาเองอย่างโอ้อวดและอึกทึกของเอค {GC 184.1}การอภิปรายดำเนินอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาสิบแปดวัน เมื่อสิ้นสุดการประชุมเหล่าผู้นิยมระบอบเปปาซีอ้างว่าตนเป็นฝ่ายชนะอย่างมั่นใจ ผู้ช่วยส่วนใหญ่เข้าข้างโรมและที่ประชุมรัฐสภาแถลงว่านักปฏิรูปศาสนาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และประกาศว่าพวกเขาทั้งหมดรวมทั้งสวิงก์ลีผู้นำของพวกเขาต้องถูกตัดขาดออกไปจากคริสตจักร แต่ผลของการประชุมเผยให้เห็นว่าความได้เปรียบนั้นอยู่ฝ่ายใด การประลองกันครั้งนี้มีผลอย่างยิ่งต่อแรงผลักดันในอุดมการณ์ของโปรเตสแตนต์และไม่นานต่อมาเมืองที่สำคัญคือเมืองเบิร์นและเมืองบาเซลก็ได้ประกาศเข้าข้างฝ่ายการปฏิรูปศาสนา {GC 184.2}GCth17 150.1